ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับงานช่าง

 

ความหมายและความสำคัญ

          ช่าง  หมายถึง  ผู้ชำนาญในการฝีมือ หรือศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง

          งานช่าง  หมายถึง  การทำงานของช่าง หรือสิ่งที่เกิดจากการทำงานของช่าง  ผู้ที่เป็นช่างมักมีคำต่อท้าย  เพื่อบอกประเภทหรือสาขาของงานที่ทำ  เช่น  ช่างไฟฟ้า  ช่างไม้  ช่างปูน ช่างเขียนแบบ ช่างยนต์ ช่างเสริมสวย

          งานช่าง  หมายถึง  การนำความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับวัสดุ  อุปกรณ์  เครื่องมือ  วิธีการทำงาน  ตลอดจนกระบวนการทางเทคโนโลยี  สิ่งแวดล้อมมาใช้ในการบำรุงรักษา  ซ่อมแซม  ติดตั้งเครื่องมือ เครื่องใช้ อย่างเป็นระบบ

          งานช่างพื้นฐาน  หมายถึง  งานช่างเบื้องต้นที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตนเอง  ส่วนใหญ่เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมสิ่งของเครื่องใช้ที่ไม่ยุ่งยากสลับซับซ้อน  หรือลงทุนสูง

ประโยชน์ของงานช่างพื้นฐาน

          ประโยชน์โดยตรง  ได้แก่  การประหยัดค่าใช้จ่าย  ประหยัดเวลา  ควบคุมดูแลการทำงานได้ เลือกใช้เครื่องมือได้ถูกประเภทและปลอดภัย ซ่อมแซมได้ด้วยตนเอง ยืดอายุการใช้งานของเครื่องมือ เครื่องใช้

          ประโยชน์โดยอ้อม  ได้แก่  การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์   เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน   เกิดความรู้ความชำนาญ เป็นพื้นฐานและแนวทางศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพ เสริมสร้างลักษณะนิสัยที่ดีให้แก่ตนเอง รู้จักวิธีการทำงานที่ถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ ทำให้ชีวิตสมดุลเนื่องจากช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทำให้เกิดความสมดุลด้านร่างกายและจิตใจ

ลักษณะของงานช่าง   สามารถแบ่งเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  1. งานบำรุงรักษา   เป็นงานที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถเกี่ยวกับหลักการ  วิธีการทำงาน  วิธีการบำรุงรักษา  เพื่อให้เครื่องมือเครื่องใช้ในบ้านสามารถใช้งานได้ถูกต้อง  ปลอดภัย  และมีอายุการใช้งานยาวนาน
  2. งานซ่อมแซม/การดัดแปลง   เป็นการนำความรู้  ทักษะต่างๆ  มาใช้เพื่อตรวจสอบหรือซ่อมแซมเครื่องมือเครื่องใช้ในบ้านที่ชำรุดให้สามารถใช้งานต่อไปได้
  3. งานติดตั้ง/การประกอบ  เป็นงานที่ต้องใช้ความรู้  ความชำนาญและทักษะต่างๆ  เพื่อติดตั้งเครื่องใช้  อุปกรณ์ต่างๆ  ในบ้านให้สามารถใช้งานได้ถูกต้องและปลอดภัย
  4. งานผลิต   เป็นงานที่ต้องใช้ความรู้และทักษะเกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์  วางแผน  ออกแบบและผลิตชิ้นงาน  และวิธีการทำงาน  เพื่อวางแผนปฏิบัติงานให้ได้ผลผลิตที่สอดคล้องกับการดำรงชีวิตประจำวัน

 หลักการทำงานช่าง

  1. มีความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ที่จำเป็นในบ้าน
  2. มีความรู้เกี่ยวกับหลักการทำงานของเครื่องมือ เครื่องใช้  และอุปกรณ์ในบ้าน
  3. มีความรู้เกี่ยวกับหลักการของวัสดุ
  4. มีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี  ทรัพยากร  พลังงาน และสิ่งแวดล้อม
  5. มีความรู้เกี่ยวกับการออกแบบ อ่านแบบ วิเคราะห์  วางแผน บำรุงรักษา  ติดตั้ง
  6. มีทักษะการคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ
  7. มีความขยัน  อดทน ตรงต่อเวลา ซื่อสัตย์ ประหยัด

กระบวนการทำงานช่าง

  1. ศึกษาคู่มือการทำงานของเครื่องมือ เครื่องใช้ และอ่านแบบ
  2. ศึกษาหลักความปลอดภัย ทรัพยากร  วัสดุอุปกรณ์อย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานและเพื่อนร่วมงาน
  3. อนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม
  4. คำนวณค่าใช้จ่าย เป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะจะทำให้รู้ค่าใช้จ่ายในการทำงาน
  5. วางแผนปฏิบัติงาน คือการกำหนดขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นจนงานสำเร็จ
  6. เลือกใช้เทคโนโลยี เพื่อความสะดวก รวดเร็ว
  7. เลือกเครื่องมือ วัสดุและอุปกรณ์
  8. ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้
  9. ตรวจสอบความเรียบร้อย
  10. แก้ไขและปรับปรุง
  11. จัดเก็บและบำรุงรักษาเครื่องมือ

ส่วนกระบวนการทำงานผลิตมีส่วนเพิ่มเติม ดังนี้

  1. ศึกษาความต้องการและความเป็นไปได้
  2. ออกแบบ เขียนแบบ
  3. ตรวจสอบคุณภาพ
  4. การจัดการผลผลิตและบรรจุภัณฑ์

ทักษะกระบวนการทำงานช่าง

          ทักษะกระบวนการทำงาน หมายถึง การลงมือทำงานด้วยตนเอง โดยมุ่งเน้นการฝึกวิธีการอย่างสม่ำเสมองานช่างทุกประเภทมีขั้นตอนการทำงานดังนี้

  1. การวิเคราะห์งาน  คือการแจกแจงงานที่ทำว่าเป็นงานประเภทใด ลักษณะใด อุปกรณ์ เครื่องมือใด
  2. การวางแผนในการทำงาน
  3. การปฏิบัติงาน
  4. การประเมินผลงาน

ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น

          หมายถึง การทำงานเป็นกลุ่ม สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ทำงานมีขั้นตอน มีหลักสำคัญดังนี้

  1. รู้จักบทบาทหน้าที่ภายในกลุ่ม
  2. มีทักษะในการฟัง พูด  แสดงความคิดเห็นและอภิปราย
  3. มีคุณธรรมในการทำงานร่วมกัน เช่น รับผิดชอบ ขยัน อดทน ซื่อสัตย์
  4. สรุปผลโดยการจัดทำรายงาน
  5. นำเสนอรายงาน

กระบวนการในการทำงานกลุ่ม

  1. เลือกหัวหน้ากลุ่ม มีการหมุนเวียนในการทำงานแต่ละครั้ง
  2. กำหนดเป้าหมายของงานว่าคืออะไร อยู่ที่ใด
  3. วางแผนการทำงาน เช่นจำอะไรบ้าง ทำอะไรก่อนหลัง จะทำงานอย่างไร
  4. แบ่งงานตามความสามารถและความถนัด
  5. ลงมือปฏิบัติงานตามบทบาท หน้าที่ และขั้นตอนที่วางไว้
  6. ประเมินผลและปรับปรุงงาน

ทักษะกระบวนการแก้ปัญหา

มีขั้นตอนดังนี้

  1. สังเกต ต้องศึกษาข้อมูล รับรู้ ทำความเข้าใจ
  2. วิเคราะห์ จัดลำดับข้อมูล หาความสำคัญและสาเหตุของปัญหา เลือกแก้ปัญหาที่สำคัญและเหมาะสม
  3. สร้างทางเลือก แสวงหาทางเลือกอย่างหลากหลาย
  4. ประเมินทางเลือก ตรวจสอบความถูกต้อง

หลักการจัดการงานช่าง

          การจัดการ  หมายถึง ความพยายามของบุคคลที่จะจัดระบบงาน (ทำงานเดี่ยว) และจัดระบบคน (ทำงานกลุ่ม)  เพื่อให้การทำงานสำเร็จตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ  นอกจากนี้ การจัดการเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตแต่ละครอบครัว เพราะหากมีการจัดการที่ดีก็จะทำให้ครอบครัวมีแต่ความสุข  จะช่วยให้การดำเนินชีวิตและครอบครัวมีการวางแผน

          กระบวนการจัดการงานช่าง   กระบวนการจัดการงานช่างมีขั้นตอนดังนี้

  1. การวางแผนการดำเนินงาน
  2. การแบ่งงาน
  3. การบริหารงานบุคคล
  4. การบริหารงานเงินและวัสดุ
  5. การผลิต
  6. การจัดจำหน่ายและบริการ
  7. การแก้ไขข้อบกพร่อง

การประเมินผลการทำงานงานช่าง   มีหลักการประเมินดังนี้

  1. การประเมินก่อนการดำเนินงาน  เป็นการประเมินเพื่อตรวจสอบความรู้ความเข้าใจในการทำงานแต่ละขั้นตอน ว่ามีความเหมาะสม เพียงพอหรือไม่
  2. การประเมินระหว่างการดำเนินงาน  เป็นการประเมินกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบทุกขั้นตอน  เป็นการประเมินตามสภาพจริงของการทำงาน  โดยการสังเกต  สอบถามหรือสัมภาษณ์
  3. การประเมินหลังการดำเนินงาน  เป็นการประเมินความสำเร็จของการวางแผนการทำงานหรือผลงานว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์เพียงใด  เป็นการประเมินผลตามสภาพจริง  ตั้งแต่การวางแผน  การทำงาน กระบวนการกลุ่ม ผลงาน ความสำเร็จ ความประทับใจในผลงาน   นอกจากนี้ยังต้องประเมินคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในการทำงานช่างได้แก่

–          ความรับผิดชอบ  ความซื่อสัตย์  ความขยัน  ความอดทน  รักการทำงาน

–          ความประหยัด  อดออม  ตรงเวลา

–          ความเอื้อเฟื้อ ความเสียสละ  ความมีวินัยในการทำงาน

>>Credit<<