• ปัญหาแรงดันตกชั่วขณะในระบบไฟฟ้าโดยส่วนใหญ่มีผลสืบเนื่องมาจากการลัดวงจรหรือความผิดพร่องที่เกิดขึ้นในระบบไฟฟ้า และจากข้อมูลทางสถิติที่ได้มีการเก็บรวบรวมไว้พบว่าการลัดวงจรส่วนใหญ่เป็นแบบเส้นเดียวลงดิน (Single Line to Ground Fault) ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาแรงดันตกชั่วขณะ คือ การป้องกันไม่ให้เกิดการลัดวงจรในลักษณะนี้ขึ้นในระบบ แต่แนวคิดนี้คงเป็นเรื่องยากสำหรับระบบไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งมีโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นแบบสายเปลือยเหนือดิน ด้วยเหตุนี้การไฟฟ้าฯ จึงได้นำวิธีการอื่นๆ เข้ามาช่วยในการลดผลกระทบจากปัญหาแรงดันตกชั่วขณะ ระบบ Neutral Grounding Resistor (NGR) คือ อีกหนึ่งวิธีที่การไฟฟ้าฯ เลือกนำเข้ามาใช้งาน

• การไฟฟ้าฯ และประเทศญี่ปุ่นได้ร่วมกันศึกษาวิธีการลดผลกระทบของปัญหาแรงดันตกชั่วขณะ โดยการเปลี่ยนระบบการต่อลงดินของหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังที่สถานีไฟฟ้าย่อยจากระบบ Solidly Grounding มาเป็นระบบ Neutral Grounding

Resistor (NGR) และได้วางเป้าหมายที่จะรักษาขนาดของแรงดันให้มีค่าไม่ต่ำกว่า 80 % ของพิกัดแรงดันปกติในขณะที่เกิดการลัดวงจรแบบ Single Line to Ground Fault ขึ้นในระบบไฟฟ้า โดยการติดตั้ง NGR ขนาด 12.7 Ω ไว้ทางด้านแรงดัน 22 kV ที่หม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง แบบ Dyn1 ระบบ 115/22 kV เพื่อจำกัดกระแสลัดวงจรทางด้าน 22 kV ให้มีค่าไม่เกิน 1,000 A วิธีการนี้จะช่วยลดผลกระทบของปัญหาแรงดันตกชั่วขณะที่เกิดจากการลัดวงจรแบบ Single Line to Ground Fault เท่านั้น แต่ในกรณีของการลัดวงจรแบบอื่นๆที่เกิดขึ้นในระบบ 22 kV อาทิเช่น Three Phase Fault หรือ Phase to Phase Fault วิธีการนี้จะไม่สามารถลดผลกระทบของปัญหานี้ได้

Credit : ห้องไฟฟ้า(Electrical Room)