การจัดการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรกล

การจัดการซ่อมบำรุงรักษา ( MAINTENANCE MANAGEMENT )
ผู้บริหารเครื่องจักรกลการก่อสร้างจะต้องมองเห็นถึงความสำคัญของการซ่อมบำรุงรักษาในบรรดาค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรกลก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาเป็นสิ่งที่ควบคุมง่ายที่สุด แต่ก็มักถูกมองข้ามบ่อยครั้งที่สุด ทั้งๆ ที่ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาตลอดอายุการใช้งานมักจะสูงกว่าราคาของเครื่องจักรกล สาเหตุของการมองข้ามความสำคัญของค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาอาจเป็นเพราะ
– ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นสิ่งที่คาดหวังว่าต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว
– เป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อยๆ พอกพูนขึ้นทีละน้อยๆ ตลอดช่วงอายุการใช้งานของเครื่องจักรกล
– มักถูกละเลยไม่มีการแสดงรายละเอียด และเสนอต่อผู้บริหาร
– ค่าใช้จ่ายในส่วนของการบำรุงรักษาประจำวันมักต่ำจนมองไม่เห็นหรือรู้สึกได้
– การใช้จ่ายที่ต้องเสียไปเนื่องจากเครื่องจักรกลหยุดการทำงาน มักไม่นำมารวมอยู่ในรายการ
บำรุงรักษาและการซ่อมแซม
การจัดการบำรุงรักษาและการซ่อมแซมที่ดี จะต้องมีแผนงานที่เป็นระบบทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งฝ่ายซ่อมบำรุงรักษา และฝ่ายปฏิบัติงานสามารถคาดหวังในสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ นั้นคือจะต้องมีการเก็บข้อมูลต่าง ๆ เช่น ค่าใช้จ่าย และจำนวนชั่วโมงหรือระยะทางที่ปฏิบัติงานเพื่อกำหนดขั้นตอนในการบำรุงรักษาให้ทุกๆฝ่ายปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอเป็นระบบเพื่อลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน หัวใจของการจัดการซ่อมบำรุงรักษาก็คือ การซ่อมบำรุงรักษาอย่างมีแผน หรือ การซ่อมบำรุงตาม
หมายกำหนดการ ( SCHEDULED MAINTENANCE )
หากการซ่อมบำรุงกระทำตามคำเรียกร้องของผู้ใช้เครื่องจักรกลเฉพาะเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ก็จะเป็นกากรแก้ปัญหาที่ไม่มีวันจบ หน่วยงานที่รับผิดชอบการซ่อมบำรุงรักษาจะต้องวางหมายกำหนดการตรวจทำความสะอาด และซ่อมเครื่องจักรกลเสมอ โดยแจ้งให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องจักรกลทราบหมายกำหนดการนั้น ขณะเดียวกันผู้ที่ใช้เครื่องจักรกลจะต้องรายงานและบันทึกสิ่งบกพร่องและอุปกรณ์ที่เกิดขึ้นขณะใช้เครื่องทุกครั้ง ตลอดจนข้อเสนอแนะในการปรับปรุงให้หน่วยซ่อมบำรุงรักษาทราบการบันทึกประวัติการซ่อมบำรุงรักษา

การบำรุงรักษาและการซ่อมแซมอาจแบ่งระดับประเภทออกเป็น
1. การบำรุงรักษาแบบป้องกัน ( PREVENTIVE MAINTENANCE )
2. การซ่อม ซึ่งแบ่งออกเป็น
ก. การซ่อมย่อยหรือซ่อมในสนาม
ข. การซ่อมใหญ่หรือการซ่อมในโรงงาน
3. การยกเครื่อง ( OVERHAULS ) ซึ่งหมายถึงการหยุดใช้เครื่องจักกล เพื่อถอดชิ้นส่วนมาทดสอบปรับปรุงและซ่อมแซมขนาดใหญ่ทั้งระบบ
การซ่อมบำรุงรักษาบางประเภทไม่จำเป็นต้องทำโดยเจ้าของโครงการหรือเจ้าของเครื่องจักรกลเช่น การซ่อมใหญ่ และการยกเครื่อง มักจะทำโดยผู้จัดจำหน่ายหรือบริษัทรับจ้างซ่อมทางด้านนี้โดยเฉพาะ เป็นต้น

การบันทึกประวัติการซ่อมบำรุงรักษา
เพื่อให้การซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักกลเป็นไปอย่างมีระบบ จะต้องมีการบันทึกค่าใช้จ่ายและรายละเอียดการบำรุงรักษาที่ทำเป็นประจำ การซ่อม การยกเครื่อง ตลอดจนจำนวนชั่วโมงที่ใช้งาน การบันทึกข้อมูลเหล่านี้ ควรจะมีแบบฟอร์มที่เข้าใจง่าย สะดวกต่อการใช้ หากเป็นไปได้ควรจะมีรายการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้กรอกซึ่งเป็นผู้ที่ใช้เครื่องจักรด้วย จะทำให้ผู้กรอกเห็นความสำคัญของข้อมูลนั้นและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นไปตามความเป็นจริงมากขึ้น การบันทึกแบบฟอร์มเหล่านี้นอกจากจะมีลายเซ็นของหัวหน้างานกำกับด้วยเพื่อเป็นการตรวจสอบข้อมูลที่บันทึกอีกทางหนึ่ง โดยทั่วไปจะประกอบไปด้วยข้อมูลเหล่านี้
– ประวัติของการซ่อมของเครื่องจักรกล
– ใบสั่งการซ่อมในโรงงาน
– ข้อมูลการบำรุงรักษาแบบป้องกัน
– รายงานจากหน่วยบริการ
– รายงานประจำวันของผู้ใช้เครื่องจักรกล
– รายงานข้อบกพร่องของเครื่องจักรกลโดยผู้ใช้เครื่อง
แบบฟอร์มมาตรฐานในการบันทึกข้อมูลเหล่านี้ มีอยู่ทั่วไปจากบริษัทของผู้จัดจำหน่ายเครื่องจักรกล หรือผู้รับจ้างซ่อมบำรุงรักษา แต่สามารถสร้างใหม่ตามความเหมาะสมก็ได้

>>> credit <<<