977298_639539596059444_1231294368_o (1)

Q : ป้ายทางหนีไฟ จำเป็นหรือไม่? ที่ต้องมีตัวหนังสือกำกับ หากเจ้าหน้าที่รัฐ บางคนบอกต้องมีตัวหนังสือกำกับ ถึงจะออกใบอนุญาตเปิดใช้อาคารได้ ผมว่าจริงๆแล้ว มาตรฐานเป็นสัญญาลักษณ์และลูกศร หนีไฟ ขนาดมาตรฐานเป็นอย่างน้อยน่าจะพอเพียงแล้ว ฝาก ตปอ.ตอบด้วยครับ
(คัดลอกมาจากเวปไซต์ของ ตปอ. สมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร)

A : ขอเรียนชี้แจงดังนี้
การพิจารณากฎหมายอ้างอิง จำเป็นต้องพิจารณาเกี่ยวกับเวลาด้วย

• ในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการออก กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้กำหนดให้ใช้ป้ายทางหนีไฟที่เป็นตัวอักษร

• ในปี พ.ศ. 2537 ได้มีการออก กฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ.2537) ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ 7 ได้กำหนดให้ใช้ ป้ายบอกทางหนีไฟด้วยตัวอักษรขนาดที่มีความสูงไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร หรือสัญลักษณ์ที่อยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัดเจนตลอดเวลา และต้องมีแสงสว่างจากระบบไฟฟ้าฉุกเฉินเพียงพอที่จะมองเห็นช่องทางหนีไฟได้ชัดเจนขณะเพลิงไหม้

• ในปี พ.ศ. 2540 ได้มีการออก กฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2540) ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ 5 ได้กำหนดให้ใช้ป้ายบอกทางหนีไฟ ด้วยตัวอักษรที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน โดยตัวอักษรต้องมีขนาดไม่เล็กกว่า ๑๐ เซนติเมตร

• ในปี พ.ศ. 2543 สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมกับ สมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย (TIEA) ได้จัดทำมาตรฐานโคมไฟฟ้าป้ายทางออก ซึ่งแล้วเสร็จเริ่มเผยแพร่ใช้งาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ซึ่งกำหนดให้ใช้สัญลักษณ์รูปภาพสากลตามมาตรฐาน ISO

• แต่ในปี พ.ศ. 2551 กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้จัดทำมาตรฐานป้ายบอกทางหนีไฟ ตามมาตรฐาน มยผ. 8301 (พ.ศ. 2551) ซึ่งกำหนดให้ป้ายทางหนีไฟ มีตัวอักษรกำกับ ซึ่งขัดแย้งกับมาตรฐาน วสท. โดย วสท.ได้ทำหนังสือชี้แจงและท้วงแย้งและขอคำอธิบาย แต่กรมโยธาธิการและผังเมืองไม่ตอบจดหมายดังกล่าว เนื่องจากการเจตนากำหนดมาตรฐานที่ลดคุณภาพความปลอดภัยของป้ายทางออก อาทิ การตัดสัญลักษณ์รูปภาพที่คนทุกชาติเห็นแล้วเข้าใจ หรือ การแก้ไขลักษณะป้ายที่ส่องสว่าง ให้เป็นป้ายที่ไม่สว่าง ถือเป็นการลดความปลอดภัยที่คาดหวังผลอันตรายที่จะตามมาได้ อันถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

• ในปี พ.ศ. 2552 วสท. ได้ร่วมกับ TIEA และ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สมอ.) ในการจัดทำมาตรฐาน มอก. ของโคมไฟฟ้าป้ายทางออก ให้เป็นมาตรฐานระดับชาติ ตาม มาตรฐาน มอก. 2430-2552 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ 4220 (พ.ศ. 2553) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค. 2553 จึงทำให้มีมาตรฐาน มอก. ของ โคมไฟฟ้าป้ายทางออก ที่ใช้สัญลักษณ์รูปภาพ ซึ่งในปัจจุบัน สัญลักษณ์รูปภาพนี้ก็ได้รับความยอมรับใช้ในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน อ่องกง สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ รวมถึง ยุโรป และ บางรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา ( ส่วนโคมไฟป้ายทางออกที่เป็นตัวอักษร นั้นไม่มีมาตรฐาน มอก. รองรับ ดังนั้นผู้ออกแบบและผู้ติดตั้งที่เลือกใช้อุปกรณ์ในระบบป้องกันอัคคีภัยที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่มีมาตรฐาน มอก. รองรับ จึงจำเป็นต้องรับความเสี่ยงจากความไม่ปลอดภัยและจากการโดนฟ้องร้องเอง )

• ในปี พ.ศ. 2556 ได้มีการออก กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และ สภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2556 ตามข้อกำหนด “ข้อ ๑๑ กำหนดให้ป้ายบอกทางหนีไฟที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(๑) ขนาดของตัวหนังสือต้องสูงไม่น้อยกว่าสิบห้าเซนติเมตร และเห็นได้อย่างชัดเจน
(๒) ป้ายบอกทางหนีไฟต้องมีแสงสว่างในตัวเองหรือใช้ไฟส่องให้เห็นได้อย่างชัดเจนตลอดเวลา ทั้งนี้ ต้องไม่ใช้สีหรือรูปร่างที่กลมกลืนไปกับการตกแต่งหรือป้ายอื่น ๆ ที่ติดไว้ใกล้เคียง หรือโดยประการใดที่ทำให้เห็นป้ายไม่ชัดเจน
นายจ้างอาจใช้รูปภาพบอกทางหนีไฟตามมาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ ทั้งนี้ ต้องให้เห็นได้อย่างชัดเจน”

ดังนั้นแนวปฏิบัติสำหรับผู้เกี่ยวข้อง หากกฎหมายที่อ้างอิงมีข้อขัดแย้งกัน ตามหลักกฎหมาย หากกฎกระทรวงเก่าและใหม่ ขัดแย้งกันให้ยึดถือตามกฎกระทรวงที่ใหม่กว่า ดังนั้นจึงไม่สามารถอ้างอิงลักษณะป้ายบอกทางหนีไฟตาม กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 หรือ กฎกระทรวง ฉบับที่ 47 ได้ แต่ต้องอ้างอิงตามกฎกระทรวงฉบับใหม่ล่าสุด ในปี พ.ศ. 2556 คือ กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และ สภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2556 โดยกฎหมายฉบับล่าสุดดังกล่าวได้กำหนดให้ใช้ป้ายบอกทางหนีไฟ ที่เป็นตัวหนังสือ หรือ สัญลักษณ์รูปภาพตามมาตรฐาน วสท.
ดังนั้นเจ้าหน้าที่โยธา ผู้พิจารณาออกใบอนุญาตใช้อาคาร จะไม่สามารถห้ามการใช้สัญลักษณ์รูปภาพตามมาตรฐาน วสท.ได้ เพราะจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

Credit:ห้องไฟฟ้า (Electrical Room)