ฮอตไลน์ (L), นิวทรัล ( N) และสายดิน (G) ต่างกันอย่างไร

ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าแหล่งที่จ่ายไฟมาให้เราได้ใช้ทุกวันนี้ ก็มากจากโรงไฟฟ้าและส่งจ่ายมาตามสายไฟฟ้าแรงสูง และมาแปลงเป็นไฟฟ้าแรงต่ำ โดยใช้หม้อแปลงไฟฟ้า ที่แขวนหรือตั้งไว้ตามเสาไฟฟ้าใกล้ๆบ้านเรานั้นเอง และหม้อแปลงไฟฟ้าเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นจะเป็นหม้อแปลงไฟฟ้า 3 เฟส

โดยสายที่เรียกว่า ฮอตไลน์ (L) จะมีทั้งหมด 3 เส้น ซึ่งสาย L แต่ละเส้นจะมีแรงดันไฟฟ้า 220โวลต์ เมื่อเทียบกับ สายนิวทรัล ( N) เรียกว่าแรงดันเฟส ซึ่งบ้านไหนขอใช้ไฟ 1 เฟส การไฟฟ้าฯ ก็จะดึงสาย L มาหนึ่งเส้นและสาย N เข้ามาที่มิเตอร์ไฟ และหากบ้านไหนต้องการใช้ไฟ 3 เฟส การไฟฟ้าฯ ก็จะดึงสาย L ทั้งสามเส้น (L1,L2,L3) พร้อมสาย N เข้ามาที่มิเตอร์ไฟ โดยหากวัดแรงดันเทียบกับสาย L เป็นคู่ๆ (L1-L2 , L2-L3 , L3-L1) ก็จะมีแรงดันไฟฟ้า 380โวลต์ (1.732*220V = 380V) เรียกว่า แรงดันไลน์ทูไลน์ ดังนั้นสาย L นี้ เมื่อเอาไขควงทดสอบไฟจิ่มที่สายดูจะมีไฟติดสว่างขึ้นแสดงว่าเป็นสายที่มีแรงดันไฟฟ้า จึงห้ามจับ…จับเมื่อไรตายเมื่อนั้น (แต่จะตายเร็วตายช้าขึ้นอยู่กับเวลา ขนาดแรงดัน และค่าความต้านทานทางไฟฟ้าของตัวเราและพื้นที่ยืนอยู่ด้วย)

ส่วนสายนิวทรัล จะเป็นจุดต่อร่วมของขดลวดในหม้อแปลงทั้ง 3 ขด ซึ่งหากมีการต่อใช้โหลดแต่ละเฟสเท่ากันแล้ว กระแสที่ไหลผ่านนิวทรัลกลับหม้อแปลงจะหักล้างกันทางเวกเตอร์หมดเท่ากับศูนย์ หมด(I1+I2+I3 = 0) ทำให้แรงดันไฟฟ้าที่สายนิวทรัลจะมีค่าเป็นศูนย์ด้วย หากเอาไขควงทดสอบไฟจิ่มที่สาย N นี้ไฟจะต้องไม่ติดเพราะมีแรงดันที่สายเท่ากับศูนย์ จึงทำให้สามารถจับสายนิวทรัลได้ไม่เป็นอันตราย แต่!!!หากมีการจ่ายโหลดแต่ละเฟสไม่สมดุลกันหรือไม่เท่ากันแล้ว ก็จะทำให้มีกระแสไหลในสายนิวทรัลทำให้สายนิวทรัลมีแรงดันไฟฟ้าไม่เท่ากัยศูนย์ เพราะเกิดจากมีค่ากระแสคูณด้วยค่าความต้านทานในสายนิวทรัลนั้นเอง ( V=I*R) บ้างครั้งก็ไม่กี่โวลต์แต่บ้างก็มากซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้นจึงไม่ควรจะจับสาย N แม้จะมีใครบอกว่าสายเส้นนี้ไม่มีไฟก็ตาม ระวังไว้ก่อนดีกว่า และระบบไฟฟ้าที่ใช้งานในระบบจ่ายไฟให้กับผู้ใช้ไฟการไฟฟ้าฯจะต่อจุดนิวทรัลลงดินที่หม้อแปลง เพื่อให้หม้อแปลงลูกนั้นๆมีจุดอ้างอิงไฟฟ้าแรงดันที่นิวทรัลเทียบดินเท่ากับศูนย์และเพื่อรักษาให้แรงดันที่ออกจากหม้อแปลงทั้ง 3 เฟส มีค่าเท่ากันไม่เปลี่ยนแปลงทำให้แรงดันแต่ละเฟสไม่เท่ากันตามโหลดที่จ่าย และนอกจากนี้การไฟฟ้าฯยังกำหนดให้แต่ละบ้านจะต่อสายนิวทรัลที่ตู้ไฟหลักของบ้านเข้ากับสายดินเพื่อให้จุดอ้างอิงแรงดันไฟฟ้าของบ้านนิวทรัลเทียบดินเท่ากับศูนย์โวลต์

ต่อมาสายดิน หรือสายกราวด์ (G) คือสายที่เราต่อลงดินจริงๆ ซึ่งจะมีแรงดันไฟฟ้าที่สายดินนี้เป็นศูนย์โวลต์ เพราะในระบบไฟฟ้าเราจะเอาดินเป็นจุดอ้างอิงทางไฟฟ้าซึ่งแรงดันเป็นศูนย์โวลต์ ดังนั้นจุดใดๆของวงจรไฟฟ้าที่ต้องการให้แรงดันเป็นศูยน์เทียบดิน เช่น โครงตัวถังของอุปกรณ์ไฟฟ้า ท่อร้อยสายไฟ บล็อกต่อสายไฟ ที่เป็นทำจากโหละสามารถเป็นสื่อตัวนำไฟฟ้าได้ ทั้งหมดนี้จะต้องต่อเชื่อมถึงกันเข้ากับสายดิน โดยสายดินในสภาวะปกติ เราสามารถจับได้ไม่เป็นอันตรายเช่นกัน แต่!!! หากอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆเกิดไฟรั่ว คือมีสายฮอตไลน์ (L) ต่อถึงสายนิวทรัล ( N) หรือ ต่อถึงสายดิน (G) หรือโครงอุปกรณ์/ท่อ/บล็อกไฟ โดยตั้งใจหรือบังเอิญ แบบนี้ก็จะทำให้สายดินกลับมีกระแสไฟได้ ซึ่งก็จะเกิดแรงดันไฟฟ้าของสายดินไม่เท่ากับศูนย์เมื่อเทียบกับจุดต่อลงดินที่หม้อแปลง โดยอาการแบบนี้หากเอาไขควงทดสอบไฟจิ่มที่สายดินก็จะมีไฟสว่างเช่นกัน ซึ่งหมายถึงสายดินตอนนี้ก็ไม่ปลอดภัยจับไม่ได้เช่นกัน

สรุป…หากสภาวะปกติหากเราเอาไขควงจิ่มไฟที่สายฮอตไลน์ (L) ไฟจะสว่าง เพราะมีแรงดันไฟฟ้าเทียบกับดินเท่ากับ 220V (ในกรณีไฟฟ้า 1 เฟส) และหากเอาไขควงจิ่มที่สายนิวทรัลหรือสายดินหรือโครงอุปกรณ์/ท่อ/บล็อกไฟ แล้วไฟสว่าง แสดงว่าสายชุดดังกล่าวมีแรงดันไฟฟ้าเทียบดินไม่เท่ากับศูนย์ ซึ่งเกิดจากสายฮอตไลน์ จุดใดจุดหนึ่งสัมผัสโดยสายดังกล่าวทำให้มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านด้วย ต้องหาจุดนั้นๆให้เจอแล้วแก้ไข (จำไว้สายนิวทรัลและสายดิน เมื่อเอาไขควงทดสอบจิ่มดูต้องไม่มีไฟสว่างติด เพราะสายทั้งสองเส้นนี้มีจุดต่อที่เป็นจุดเดียวกันที่ต้นทาง และมีแรงดันเทียบดินเท่ากับศูนย์นั้นเอง)

Credit : ห้องไฟฟ้า (Electrical Room)