เครื่องหมายเพื่อความปลอดภัย

 

สถานที่ปฏิบัติงานทุกแห่งต่างก็ปรารถนาที่จะปราศจากอันตราย และปลอดภัยจากการบาดเจ็บและอุบัติเหตุต่าง ๆ แต่ในกระบวนการทำงานหลาย ๆ ประเภท จำเป็นต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมอันตรายได้ทั้งหมดแม้จะใช้ทั้งมาตรการทางวิศวกรรม การบริหารจัดการ หรืออุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลแล้วก็ตาม ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการบริหารจัดการความเสี่ยงก็คือ การทำให้มั่นใจว่าเราสามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ ขั้นตอนของการทำงาน ซึ่งวิธีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไปว่าสามารถช่วยป้องกันอุบัติเหตุได้ ก็คือการใช้ “เครื่องหมายเพื่อความปลอดภัย (Safety Signs)” ไม่ว่าจะเป็น ป้าย สัญลักษณ์ ฉลาก หรือเครื่องหมาย เพื่อแจ้งและย้ำเตือนผู้ปฏิบัติงานให้รับทราบและตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงข้อควรปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายเหล่านั้น ซึ่งผู้ปฏิบัติงานในทุก ๆ ส่วนที่มีโอกาสสัมผัสกับอันตราย ควรที่จะได้เรียนรู้และทำความเข้าใจว่าเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัยแต่ละประเภทนั้น ต้องการสื่อถึงอะไรบ้าง

   เครื่องหมายเพื่อความปลอดภัย ต้องมีความชัดเจนและมีข้อมูลเพียงพอ เพื่อสื่อได้ว่าเป็นการห้าม การเตือน คำสั่ง ข้อแนะนำ บอกทิศทาง หรือให้ข้อมูลด้านความปลอดภัย ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อมองไปรอบ ๆ พื้นที่งานก็จะสังเกตเห็นป้ายชนิดต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความปลอดภัยหรือประชาสัมพันธ์ในเรื่องอื่น ๆ แต่ป้ายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยต้องมีความสำคัญเป็นลำดับแรกเสมอ จึงต้องติดตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมและไม่มีสิ่งใด ๆ มาบดบังทัศนวิสัยในการมองเห็นของผู้ปฏิบัติงาน นอกจากนี้ยังควรย้ายป้ายอื่น ๆ ที่อาจหันเหความสนใจของผู้ปฏิบัติงานไปจากป้ายความปลอดภัย รวมถึงต้องมีการบำรุงรักษาสภาพความสมบูรณ์ของป้ายอยู่เป็นประจำ

   เครื่องหมายเพื่อความปลอดภัยยังสามารถช่วยได้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นภายในสถานที่ปฏิบัติงาน เช่น เมื่อมีแขก หรือผู้มาติดต่องานในขณะเกิดเหตุฉุกเฉิน พวกเขาก็จะสามารถเข้าใจและรับรู้ได้โดยง่ายถึงตำแหน่งที่อยู่ ณ เวลานั้น รวมถึงรับรู้ถึงตำแหน่งทางออกฉุกเฉิน จึงสามารถออกจากตัวอาคารได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ฉะนั้นในกรณีนี้ ป้ายบอกทิศทาง (Directional Signage) เช่น ทางออกฉุกเฉิน (Exit Signs) ต้องไม่มีสิ่งใด ๆ มาบดบังและติดตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นได้โดยง่ายจากทิศทางการมองทั้งหมด

   โรงงานอุตสาหกรรมหรือโรงงานผลิตที่มีโอกาสสูงที่จะเกิดการบาดเจ็บ ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการใช้เครื่องหมายเพื่อความปลอดภัย โดยควรตรวจสอบว่าอุปกรณ์และเครื่องจักรทั้งหมดได้มีข้อความเตือนถึงอันตราย เพื่อช่วยย้ำเตือนให้ผู้ใช้งานได้ตระหนักถึงความปลอดภัยไว้บ้างหรือไม่ เช่น “ต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันดวงตาในระหว่างที่ปฏิบัติงาน (Protective Eyewear Must Be Worn While Operating)”

นอกจากนี้ยังต้องมั่นใจว่าป้ายความปลอดภัยได้ถูกติดตั้งไว้ในตำแหน่งที่ผู้ปฏิบัติงานสามารถมองเห็นได้โดยง่ายซึ่งผู้ใช้งานหรือผู้ปฏิบัติงานควรจะสังเกตเห็นป้ายเตือนได้โดยทันทีที่เข้าถึงชิ้นส่วนที่อันตรายของอุปกรณ์หรือเครื่องจักร หรือถ้าไม่มีข้อความเตือนก็ควรมีสัญลักษณ์ภาพที่สื่อถึงอันตราย ทั้งนี้เรายังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับวัสดุทุกชนิดที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงขึ้น เมื่อผู้ปฏิบัติงานไปสัมผัสแตะต้องด้วย

เครื่องหมายเพื่อความปลอดภัย (Safety Signs) หมายถึง สิ่งที่ใช้สื่อความหมายเกี่ยวกับความปลอดภัย โดยมีสี รูปแบบ และสัญลักษณ์ภาพ หรือข้อความที่แสดงความหมายเป็นการเฉพาะเพื่อประโยชน์ด้านความปลอดภัย

1. มาตรฐานสีและเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัย (Standard for Safety Colors and Safety Signs)

1.1 สีเพื่อความปลอดภัย (Safety Colors) หมายถึง สีของเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัย โดยแบ่งเป็นสีพื้นและสีตัด โดยมีรายละเอียดดังตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงสีเพื่อความปลอดภัยและสีตัด

หมายเหตุ: 1) สีแดงยังใช้สำหรับอุปกรณ์เกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัย อุปกรณ์ดับเพลิง และตำแหน่งที่ตั้งอีกด้วย 2) อาจใช้สีแดงส้มวาวแสงแทนสีเหลืองได้ แต่มิให้ใช้แทนสีเหลืองกับเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัยตามตารางที่ 2 สีแดงส้มวาวแสงนี้มองเห็นเด่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่มืดมัว

รูปที่ 1 ตัวอย่างการใช้สีเพื่อความปลอดภัยและสีตัด ใช้สีเพื่อความปลอดภัยเป็นสีเหลืองและใช้สีตัดเป็นสีดำ โดยที่พื้นที่ของสีเหลืองต้องมีอย่างน้อยร้อยละ 50 ขอพื้นที่ทั้งหมดของเครื่องหมาย ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้สำหรับบริเวณหรือสถานที่ที่อาจมีภัยอันตรายชั่วคราวหรือถาวร เช่น การตกหล่น การสะดุด สถานที่ที่เป็นขั้นบันได หรือหลุมบ่อ เป็นต้น

1.2 รูปแบบของเครื่องหมายความปลอดภัย

– รูปแบบของเครื่องหมายความปลอดภัยและสีที่ใช้แบ่งเป็น 4 ประเภทตามจุดประสงค์ของการแสดงความหมาย ตามตารางที่ 2

– ให้แสดงสัญลักษณ์ภาพไว้ตรงกลางของเครื่องหมาย โดยไม่ทับแถบขวางของเครื่องหมายห้าม

– ในกรณีที่ไม่มีสัญลักษณ์ภาพที่เหมาะสมสำหรับสื่อความหมายที่ต้องการให้ใช้เครื่องหมายทั่วไปสำหรับเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัยของแต่ละประเภทร่วมกับเครื่องหมายเสริม

ตารางที่ 2 แสดงรูปแบบของเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัย

1.3 เครื่องหมายเสริม หมายถึง เครื่องหมายที่สื่อความหมายเกี่ยวกับความปลอดภัย โดยมีสี รูปแบบ และข้อความ เพื่อใช้ร่วมกับเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัยในกรณีที่จำเป็น โดยมีรายละเอียดดังนี้ คือ

– รูปแบบของเครื่องหมายเสริม เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือสี่เหลี่ยมจัตุรัส

– สีพื้นให้ใช้สีเดียวกับสีเพื่อความปลอดภัย และสีของข้อความให้ใช้สีตัดดังที่กำหนดไว้ในตารางที่ 1 หรือสีของพื้นให้ใช้สีขาว และสีของข้อความให้ใช้สีดำ

– ตัวอักษรที่ใช้ในข้อความ ช่องไฟระหว่างตัวอักษรต้องไม่แตกต่างกันมากกว่าร้อยละ 10

– ลักษณะของตัวอักษรต้องดูเรียบง่าย ไม่เขียนแรเงาหรือลวดลาย

– ความกว้างของตัวอักษรต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของความสูงของตัวอักษร

– ให้แสดงเครื่องหมายเสริมไว้ใต้เครื่องหมายเพื่อความปลอดภัย

      

1.4 ขนาดของเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัยและตัวอักษร

 -ขนาดของเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัยและตัวอักษรที่ใช้ในเครื่องหมายเสริม กำหนดไว้เป็นแนวทางตามตารางที่ 3 ดังนี้

ตารางที่ 3 แสดงขนาดของเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัยและตัวอักษรที่ใช้ในเครื่องหมายเสริม

2. ตำแหน่งติดตั้งเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัย

ควรติดตั้งเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัยให้อยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัดเจน ในทุก ๆ สภาวะไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน รวมถึงไม่มีสิ่งอื่นใดมาบดบังทัศนวิสัยในการมอง

2.1 ขนาดป้ายเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัยกับระยะทางที่สามารถมองเห็นและเข้าใจ

2.2 ความสูงในการติดตั้งป้ายเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัยเพื่อให้สามารถมองเห็นได้โดยสะดวก

2.3 ป้ายเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัยในแนวระนาบ จะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนเป็นมุมมองไม่เกิน 90 องศา

2.4 ป้ายที่ติดตั้งแบบมุมฉากจะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนเป็นมุมมอง 180 องศา

การที่จะสามารถมองเห็นป้ายได้ชัดเจนในเวลากลางคืนหรือไฟฟ้าดับ จะต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ เช่นเป็นป้ายแบบสะท้อนแสง หรือเป็นป้ายแบบมีไฟฉุกเฉินในตัว หรือจะใช้ไฟฉุกเฉินส่องเข้าที่ป้ายแทนก็ได้

กล่าวโดยสรุปได้ว่า เครื่องหมายเพื่อความปลอดภัย หรือป้ายเตือนความปลอดภัย (Safety Signs) ที่ติดไว้บริเวณที่อาจมีการสัมผัสกับอันตราย จะมีส่วนช่วยให้ลดอุบัติภัยได้ โดยการที่ผู้ปฏิบัติงานได้เห็นข้อความและคำเตือนที่สื่อถึงอันตรายก่อนเริ่มลงมือทำงาน ก็จะเป็นเตือนสติผู้ปฏิบัติงานได้ส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เครื่องหมายเพื่อความปลอดภัยอาจจะกลายเป็นสิ่งไร้ค่าได้ถ้าเพียงแค่ติดตั้งไว้ แต่ไม่มีการอธิบายและเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญในการสังเกตและปฏิบัติตามเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัยนั้น

>>Credit<<