Business Model Canvas (1) โมเดลแห่งความสำเร็จ

การจะทำอะไรสักอย่างจำเป็นต้องมีการวางแผนเสมอ การทำธุรกิจก็เช่นกัน หากขาดการวางแผน ธุรกิจก็จะออกมาไม่เป็นรูปเป็นร่าง ดังนั้นเราจึงมี Business Model Canvas หรือ เครื่องมือสร้างModel ธุรกิจ ขึ้น เพื่อช่วยในการวางแผนธุรกิจอย่างเป็นระบบ โดยเจ้า Model ที่ว่านี้ ถูกพัฒนาและคิดค้นโดยคุณ Alexander Osterwalder ซึ่งได้เผยแพร่ Model นี้ในหนังสือที่ชื่อว่า Business Model Generation นั่นเอง

1.      Value Propositions

คือ เราต้องรู้ว่าจุดแข็งของสินค้า/บริการของเราอะไร ส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญมากที่เราจะต้องคิดให้ได้เป็นอันดับแรก เพราะคุณค่าต่างๆที่เราคิดได้สามารถนำมาสร้างเป็นจุดแข็งให้กับธุรกิจ รวมถึงสร้างความแตกต่างให้ธุรกิจของเราได้เช่นกัน

2.      Customer Segment

เราต้องรู้ว่าสินค้าของเราจะขายให้ใคร ระบุไว้ชัดๆไปเลย จะได้กำหนดทิศทางการโปรโมตสินค้าได้ถูกต้อง เราต้องตระหนักไว้เสมอว่า คุณค่าที่เรามีพร้อมที่จะส่งมอบ เราจะส่งมอบให้ใคร เราต้องระบุให้ชัดเจนว่าลูกค้าของเราเป็นใคร เพศอะไร อายุเท่าไหร่ อาชีพอะไร อาศัยอยู่ที่ไหน การใช้ชีวิตเป็นอย่างไร ฯลฯ นอกจากนั้นยังต้องตัดสินใจว่า เราจะส่งมอบคุณค่าให้ลูกค้าเพียงกลุ่มเดียว หรือหลายกลุ่ม

3.      Channels

เมื่อรู้ว่าลูกค้าของเราคือใครแล้ว ลอง list ช่องทางที่เราจะใช้สื่อสารประชาสัมพันธ์สินค้าของเราให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า เช่น อินเตอร์เน็ต facebook หนังสือพิมพ์ ฯลฯ เมื่อสินค้าหรือบริการ ประกอบกับกลุ่มเป้าหมายแล้ว สิ่งต่อมาที่ควรคำนึงถึงคือช่องทางระหว่างเราในแง่ของการสื่อสาร การสั่งซื้อ การจัดส่ง หรือการดูแลหลังการขาย เรียกได้ว่าเป็นตัวเชื่อมต่อเรากับลูกค้าตั้งแต่กระบวนการแรกจนถึงกระบวนการสุดท้ายของธุรกิจเลยทีเดียว

4.      Customer Relationships

ในส่วนนี้เป็นส่วนที่มีความคล้ายคลึงกับ Channels แต่จะแตกต่างกันตรงที่ Customer Relationships จะเน้นในเรื่องความสัมพันธ์กับลูกค้า ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ตอบปัญหาต่างๆ ฯลฯ เราควรให้ความสำคัญกับส่วนนี้ด้วยเพราะว่า จะเป็นการรักษาความสัมพันธ์ของลูกค้า ทำให้ลูกค้ามีความผูกพันธ์กับเรา ซึ่งเป็นผลดีกับเรา เพราะลูกค้าจะนึกถึงเราเป็นอันดับต้นๆ เมื่อต้องการซื้อสินค้าหรือบริการนั้นๆ หรือเมื่อแนะนำให้เพื่อนและคนรอบข้างมาซื้อสินค้าเรานั่นเอง

5.      Revenue Streams

มาถึงส่วนที่คนทำธุรกิจทุกคนให้ความสำคัญมากที่สุด นั่นก็คือ รูปแบบรายได้ ใน Model นี้ เราต้องตอบให้ได้ว่า รายได้หลักของเรามาจากอะไร เช่น การขายสินค้า การให้บริการ การจัดเก็บรายได้จากระบบสมาชิก ฯลฯ แล้วเรามีรายได้รองจากแหล่งอื่นๆอีกหรือไม่ เพราะการที่เราระบุแหล่งรายได้อย่างชัดเจน จะทำให้เรารู้ว่า เราควรเน้นหนักไปในทิศทางใด เพื่อก่อให้เกิดรายได้สูงสุดให้กับธุรกิจ

6.      Key Resource

ทรัพยากร หรือเรียกง่ายๆก็คือ สิ่งที่เรามีอยู่และสามารถนำมาสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจได้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ทรัพยากรที่เป็นรูปธรรม เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ คนงาน ฯลฯ และทรัพยากรที่เป็นนามธรรม เช่น “Brand Value หรือ คุณค่าของตราสินค้า” ซึ่งเป็นสิ่งที่จำต้องไม่ได้ แต่มีมูลค่ามหาศาล เป็นต้น ทั้งนี้ การที่เราระบุว่าเรามีทรัพยากรอะไรบ้าง จะทำให้เราเห็นขีดความสามารถที่เราจะนำมาพัฒนาส่วนต่างๆให้กับธุรกิจได้นั่นเอง

7.      Key Activities

list สิ่งที่เราต้องทำ นอกจากจะทำให้เรามีระเบียบในการดำเนินธุรกิจมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้น ว่าต้องทำอะไรบ้างเพื่อทำให้ Model ธุรกิจนี้เป็นจริง? ตัวอย่างง่ายๆเช่น กระบวนการผลิต นั่นเอง ซึ่งค่อนข้างจะเป็นส่วนสำคัญ และมีให้เห็นได้ในทุกๆ Model ธุรกิจ

8.      Key Partners

คู่ค้า หรือเพื่อนทางการค้านั่นเอง มีไว้คอยช่วยเหลือ ปรึกษากัน ไปจนถึงเป็นผู้คอยป้อนสินค้าให้เราในราคาแบบมิตรภาพ ที่ถูกกว่าการไปซื้อกับคนอื่น อย่างที่ทุกคนทราบ การทำธุรกิจไม่สามารถดำเนินการโดยไม่มีพันธมิตรได้ อย่างน้อยเราจำเป็นต้องคำนึงถึงผู้ที่จัดหาทรัพยากรให้เรา ผู้ที่เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายให้เรา ซึ่งจะเป็นรูปแบบการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

9.      Cost Structure

ค่าใช้จ่ายของธุรกิจ จะมีทั้งค่าใช้จ่ายคงที่ที่เราต้องจ่ายเป็นประจำทุกปีหรือทุกเดือน และค่าใช้จ่ายผันแปรที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆที่เปลี่ยนไป การที่เรารู้ว่าธุรกิจของเราเสียเงินไปกับค่าใช้จ่ายส่วนไหนบ้าง จะทำให้เราวางแผนปรับปรุง+พัฒนาธุรกิจของเราได้ในอนาคต

Credit